การรับลูกส่งในการเล่นคู่ผสม
การรับลูกส่ง หลักการในการเล่นประเภทคู่ผสมนั้นเหมือนกับการเล่นประเภทคู่โดยทั่ว ๆ ไป คือ อาจจะยืนรับติดเส้นส่งลูกหรือยืนกลางสนาม แล้วแต่ความถนัดเมื่อยืนจุดตรงเส้นหน้าถ้าคู่แข่งขันส่งลูกหลัง นักกีฬาสามารถถอยหลังให้ทันก็พอแล้ว ที่สำคัญมากตอนรับลูกส่ง ผู้ไม่ได้รับลูกส่งห้ามยืนค่อมเส้นกลางสนามโดยเด็ดขาด จะทำให้การส่งลูกเกิดกีดขวางแก่คนรับและจะทำให้เสียจังหวะในการเคลื่อนตัว ทำให้เกิดพะวักพะวงในการตีลูกต่อไปได้
การส่งลูกในการเล่นคู่ผสม
การส่งลูก มีหลักในการส่งลูกส่วนใหญ่คล้ายกับเกมคู่โดยทั่ว ๆ ไป แต่จะแตกต่างกันตรงที่ว่า ผู้รับคนหนึ่งเป็นชายและผู้รับอีกคนหนึ่งเป็นหญิง ดังนั้นเทคนิคในการส่งลูกจึงต้องแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม เพื่อชิงเป็นฝ่ายรุกไว้อยู่เสมอ การส่งลูกที่ดีที่สุดของคู่ผสม คือ มุมหน้าใกล้ตาข่ายชิดเส้นกลางสนามด้วยเหตุที่มีระยะที่สั้นที่สุด การควบคุมการส่งลูกจึงสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้หากคู่แข่งขันตอบโต้ลูกกลับคืนมาก็อยู่ในรัศมีของผู้ส่งลูกที่จะป้องกัน และดักโจมตีได้โดยง่าย อนึ่งความแตกต่างในการส่งลูกให้แก่ผู้เล่นหญิงและผู้เล่นชายนั้น ผู้ส่งมักคาดหวังที่จะทำคะแนนในการส่งให้ผู้เล่นหญิงทุกครั้งเสมอ
เช่น การส่งลูกไปด้านหลังบริเวณเส้นส่งลูกยาว เพราะถือว่านักแบดมินตันหญิงไม่สามารถตบลูกได้รุนแรงเท่านักแบดมินตันชาย และบางคนมีจุดอ่อนในการตีลูกหลังมือด้วย ตำแหน่งการยืนส่งลูก ในระบบของการเล่นคู่ผสมนั้น ผู้เล่นหญิงมักจะเป็นมือแรกในการส่งลูกและรับลูกเสมอ โดยมีคู่ขาชายควบคุมพื้นที่ส่วนหลังในระบบหน้า-หลัง ซึ่งตามกติกา การส่งลูกจะเริ่มต้นที่สนามด้านขวามือ ดังนั้นตำแหน่งของผู้เล่นควรยืนใกล้เส้นกลางสนามแต่ห่างจากเส้นส่งลูกสั้นซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดในการส่งลูก
การตั้งรับลูกส่ง
การตั้งรับลูกส่ง ผู้รับควรยืนรับระบบหน้า-หลัง เช่นเดียวกับผู้ส่งลูก แต่มีข้อแตกต่างกันบ้างตรงที่ผู้รับลูกจะไม่ยืนชิดเส้นส่งลูกมากเท่ากับฝ่ายส่งลูก แต่จะยืนห่างจากเส้นส่งลูก เพื่อการก้าวเท้าเข้าประชิดตีลูกหน้าตาข่ายหรือถอยตบลูกด้านหลังได้ทัน ส่วนคู่ขาผู้รับลูกจะยืนตั้งท่าพร้อมที่กึ่งกลางสนามในส่วนของตนเอง หรือจะยืนในระบบหน้า-หลังก็ได้ เพื่อคอยควบคุมด้านท้ายของสนาม แต่มีข้อสำคัญที่ควรจำไว้ปฏิบัติก็คือ ไม่ควรไปยืนคร่อมเส้นกลาง เพราะจะไปกีดขวางผู้รับลูกที่จะตีลูกที่ส่งมาบริเวณเส้นส่งลูกยาวตรงมุมหลังมือของคู่ขา นอกจากนี้หากไม่ทันระวังในบางครั้งแม้ผู้ส่งลูกจะส่งลูกมาผิดสนามก็ตาม แต่อาจจะไปถูกแร็กเกตหรือคู่ขาของผู้รับก็จะเสียคะแนนไปอย่างไม่น่าจะต้องเสีย ในขณะเดียวกันหากผู้รับเห็นว่าผู้ส่งลูกไปยืนส่งลูกในบริเวณมุมขวาสุดสนามเพื่อส่งลูกเข้ามุมหลังมือ ให้ผู้รับถอยไปตั้งรับจากจุดเดิม ก็จะแก้ไขการส่งลูกดังกล่าวได้ และสามารถตบลูกได้หนักขึ้นโดยไม่เสียหลัก
หลักการเล่นประเภทคู่
การยืนส่งลูก
ในเกมประเภทคู่นั้นจะใช้ระบบการยืนหน้า-หลังในขณะส่งลูก โดยผู้ส่งลูกจะยืนอยู่ชิดกับมุมกลาง ตั้งท่าส่งลูกโดยใช้สายตาจับจ้องดูคู่แข่งขันและส่งลูกไปโดยไม่ต้องปรับสายตากลับมาที่มือที่จับลูก และไม้แร็กเกตอีก ซึ่งจะทำให้เห็นจุดอ่อนของคู่แข่งขันในการยืนหรือจังหวะที่คู่แข่งขันเสียจังหวะได้ทันที เป็นการตีลูกส่งโดยอัตโนมัติ และใช้จังหวะเพียงเสี้ยววินาทีในการใช้แรงตวัดข้อมือชิงเป็นฝ่ายได้เปรียบในการแข่งขันได้ ถ้าหากผู้รับไม่ได้มีท่าทีจะเข้ามาประชิดตีลูกเร็ว ก็ให้ส่งลูกสั้นเลียดกับตาข่ายไป เมื่อส่งลูกข้ามตาข่ายผู้ส่งลูกควรขยับเท้าเข้ามายืนคร่อมเส้นกลาง ยกไม้สูงเพื่อคอยดักตะปบลูกตอบโต้จากฝ่ายรับ ซึ่งอาจจะตีลูกหยอดผลักส่งครึ่งสนามหรือลูกดาดกลับคืนมา ซึ่งก็อยู่ในรัศมีของการตอบโต้ได้ทันท่วงที ในขณะเดียวกันคู่ขาของผู้ส่งลูกจะยืนคร่อมเส้นกลางสนามห่างจากผู้ส่งลูกประมาณ 1 ก้าว คอยควบคุมทิศทางสอดเข้าไปรุกโจมตีเมื่อผู้รับลูกตอบโต้ผ่านผู้ส่งลูกกลับมา
การเล่นแบบหน้า-หลัง
การเล่นคู่แบบนี้ คือ จะให้ผู้เล่นคนหนึ่งที่มีฝีมืออ่อนกว่าคู่ขา ทำหน้าที่ควบคุมบริเวณพื้นที่ด้านหน้าตาข่าย นับตั้งแต่เส้นส่งลูกไปจนถึงเส้นหลังสุดของสนาม การเล่นแบบนี้เหมาะสำหรับผู้เล่นคู่ที่มีฝีมือต่างกันมาก และเหมาะที่จะใช้สำหรับการเล่นประเภทคู่ผสมมากกว่า วิธีการเล่นแบบดังกล่าวจะมีจุดอ่อนอยู่หลายประการท่จะทำให้เสียเปรียบคู่แข่งขัน เพราะคู่แข่งขันจะเลือกโจมตีผู้ที่มีฝืออ่อนกว่าได้โดยง่าย โดยเฉพาะตำแหน่งมุมซ้ายหรือขวาสุดของเส้นส่ง ลูกด้านหน้าจะเป็นจุดอ่อนในการโจมตี ทำให้ผู้เล่นแดนหลังต้องเข้ามาช่วยแก้ไข ตกเป็นฝ่ายรับโดยตีลูกจากระดับต่ำกว่าตาข่ายกลับคืนไป ซึ่งเป็นผลให้ถูกโต้กลับมาด้วยลูกตบ ลูกดาดทแยงสนาม หมดโอากาสเป็นฝ่ายควบคุมเกมในที่สุด
การเล่นแบบแบ่งสนาม
การเล่นคู่แบบนี้ผู้เล่นทั้งสองคนจะยืนเคียงข้างกัน เป็นวิธีการเล่นในลักษณะกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการควบคุมบริเวณพื้นที่คนละด้าน นับตั้งแต่บริเวณหน้าตาข่ายจนถึงเส้นหลังของสนาม การเล่นแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มเล่นใหม่ ๆ จะให้ผลดีมากเนื่องจากมีการแบ่งความรับผิดชอบออกเป็นสัดส่วนชัดเจนไม่ก้าวก่ายกัน เมื่อตีเสร็จแล้วก็กลับมารักษาพื้นที่บริเวณกลางสนามไว้ตามเดิมแต่การเล่นแบบนี้หากใช้ในการแข่งขันจะมีจุดอ่อนอยู่หลายประการเช่นกันที่จะทำให้เสียเปรียบได้ เพราะคู่แข่งขันจะเลือกโจมตีเฉพาะ
ผู้เล่นข้างหนึ่งที่อ่อนกว่า 2 รุมหนึ่งจนหมดแรงไปเอง โดยที่คู่ขาอีกคนหนึ่งหมดโอกาสที่จะช่วยเหลือได้เลย และอีกประการหนึ่งหากคู่แข่งขันโต้ตอบกลับมาด้วยลูกหยอด หรือลูกดาดตรงบริเวณกึ่งกลางสนามจะเกิดปัญหาในการขัดแย้งกันในการรับลูกอีกด้วย การเล่นประเภทนี้จึงไม่เป็นที่นิยมกัน