top of page

ในเกมแบดมินตัน - การตบลูก

 

      ได้อธิบายวิธีการตี ลูกโยน ลูกงัด ซึ่งเป็นลูกหลักในเกมแบดมินตันไว้ในบทก่อน คราวนี้จะได้กล่าวถึงวิธีการตีลูกหลักอีกลูกหนึ่ง คือ ลูกตบ (Smash)

 

ลูกตบ (Smash) ในเกมแบดมินตัน ลูกตบ เป็นลูกเด็ดขาดที่ตีจากเบื้องสูง กดลูกลงสู่เป้าหมายให้พุ่งลงสู่พื้นในวิธีตรงที่รุนแรง และรวดเร็ว  เป็นลูกที่พุ่งไปสู่เป้าหมายด้วยความเร็วที่สูงกว่าเกมเล่นอื่น ๆ ที่ใช้แร็กเก็ต เป็นลูกที่ใช้บีบบังคับให้คู่ต่อสู้ต้องตกเป็นฝ่ายรับ มีเวลาจำกัดสำหรับการเตรียมตัวตอบโต้ ลูกตบเป็นลูกฆ่า เป็นลูกทำแต้มที่ได้ผล ถ้ารู้จักใช้อย่างถูกต้อง

 

ลูกตบใช้ในโอกาสต่าง ๆ คือ

     1. เมื่อคู่ต่อสู้โยนลูกข้ามตาข่ายมาเพียงครึ่งสนาม หรือส่งลูกข้ามมาไม่ถึงหลัง

     2. เมื่อต้องการบีบให้คู่ต่อสู้เสียหลัก ผละออกจากจุดศูนย์กลาง

     3. เมื่อต้องการให้คู่ต่อสู้กังวลใจ พะวงอยู่กับการตั้งรับ

    4. เพื่อผลของการหลอกล่อ เมื่อคู่ต่อสู้เกิดความกังวลใจ ทำให้ประสิทธิผลของการใช้ลูกหลักอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น

    5. เมื่อต้องการเผด็จศึก ยุติการตอบโต้ หรือใช้เมื่อคู่ต่อสู้เผลอตัว หรือเสียหลักการทรงตัว บุกทำคะแนนด้วยลูกเด็ดขาด

 

    วิธีที่ดีของลูกตบ ลูกตบที่สมบูรณ์แบบ ต้องพุ่งจากแร็กเก็ตมีวิธีข้ามตาข่ายไปเป็นเส้นตรง พุ่งเฉียดผ่านตาข่ายโดยไม่เปิดโอกาสให้คู่ต่อสู้ดักลูกสวนโต้กลับมาได้ ต้องพุ่งปักหัวไปยังแดนตรงข้ามด้วยความเร็วและรุนแรง โดยใช้แหล่งที่มาของการตีลูกทั้งหมดโถมใช้เสริมพลังในการตบลูก ความหนักหน่วงของลูกตบ ไม่ได้เกิดจากแรงตีที่ใช้อย่างหักโหมความหนักหน่วงของลูกตบ ไม่ได้เกิดจากแรงตีที่ใช้อย่างหักโหม แต่ความเร็วกับความรุนแรงของลูกตบที่หนักหน่วงมาจากจังหวะการประสานงานอย่างกลมกลืนของจังหวะฟุตเวิร์ค การเวี่ยงตีของแขน การตวัดของข้อมือเสริมด้วยแรงปะทะที่เกิดจากการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า(Transference of body weight) ลูกตบเป็นลูกที่กินแรง แต่แรงที่ใช้ไปนั้น คุ้มแก่การเสียแรง ถ้าลูกที่ตบไปนั้นสามารถยุติการตอบโต้และทำคะแนนได้ แต่จะสูญเสียแรงเพิ่มเป็นทวีคูณถ้าฝ่ายตรงข้ามสามารถรับลูกตบกลับมายังมุมไกลห่างตัวผู้ตบ ทำให้ผู้ตบนอกจากสูญเสียแรงในการตบลูกแล้ว ยังต้องสูญเสียพลังงานในการวิ่งไล่ลูกอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เล่นควรฝึกการกลับทรงตัวหลังตบลูกให้เร็ว รู้จักปรับฟุตเวิร์คของตัวเองให้เบาที่สุด เพื่อประหยัดพลังงานในการตบลูกทุกครั้ง

 

     วิธีของลูกตบ การตบลูกไม่ควรตบข้ามไปในวิธีเดียว ควรบังคับให้ลูกตบข้ามไปในลักษณะต่างกัน สั้นบ้าง ยาวบ้างสลับกันไป การตบลูกให้ข้ามไปในลักษณะช่วงสั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งโยนข้ามมาครึ่งสนาม หรือบางครั้งผู้เล่นที่มีรูปร่างสูงยาว อาจจะใช้การกระโดดตัวลอยจากพื้น เพื่อสร้างมุมตบลูกได้ในระดับสูง เพื่อปักหัวลูกให้ลึกไปยังแดนตรงข้ามได้มากตามระดับที่ตัวเองสามารถกระโดดลอยตัวขึ้นตบลูกได้  ซึ่งบางครั้งผู้ตบยังสามารถใช้ลูกท้อปสะปิน หรือครึ่งตบครึ่งตัด สร้างลูกตบข้ามไปในวิธีประหลาด ๆ ยากแก่การเดาของคู่ต่อสู้ได้

 

       การกระโดดถีบตัวขึ้นตบลูก นอกจากทำให้ผู้ตบตีลูกในระดับสูงได้ และทำให้มีมุมลึกในการตบลูกแล้ว บางครั้งยังใช้เป็นการหลอกล่อ (Deception) คู่ต่อสู้ได้ แทนที่จะตบลูกด้วยความรุนแรงเพียงอย่างเดียว อาจจะแตะหยอดสลับก็ได้ ทำให้เกิดความหลากลายในการตีลูก เกิด Varieties of Strokes

 

      ลูกตบคร่อมศีรษะ (Overhead Smash) ลูกตบคร่อมศีรษะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ลูกตบโอเวอร์เฮ็ด บางทีก็เรียกกันว่าลูกตบอ้อมศีรษะ เป็นลูกที่ใช้เล่นแทนลูกหลังมือ หรือแบ็คแฮนด์กันบ่อยที่สุด ผู้เล่นที่ใช้สไตล์การเล่นแบบรุก จะนิยมใช้ลูกโยนหรือลูกตบคร่อมศีรษะกันมาก เพราะจู่โจมคู่ต่อสู้ได้ดีกว่า มีประสิทธิผลมากกว่า แทนการใช้ตีด้วยลูกหลังมือที่ต้องหันข้าง หรือหันหลังให้ตาข่ายกับคู่ต่อสู้ ลูกคร่อมศีรษะ เป็นการตีลูกจากระดับสูง ผู้เล่นจึงมีโอกาสเลือกมุมกับเป้าหมายการตีได้กว้างลึกกว่า เล็งกำหนดเป้าหมายให้เป็นลูกตบยาว หรือสั้นก็ได้ เป็นการตีลูกที่ผู้เล่นหันหน้าเข้าหาสนามคู่แข่ง การเคลื่อนไหวหรือตำแหน่งที่ยืนของคู่แข่งย่อมอยู่ในสายตา การกำหนดวาง

เป้าหมายย่อมกระทำได้ง่ายขึ้น

 

       เป้าหมายการตบลูกคร่อมศีรษะที่ใช้กันมาก และใช้ได้ผลมากที่สุด ได้แก่การตบขนานเส้นข้าง (Pararel Smash) และการตบทแยงสนาม (Cross Court Smash)  เพราะเป็นการตบลูกที่ทำให้คู่ต่อสู้เดาหรือคาดคะเนได้ยาก ดูไม่ออกว่าเป้าหมายการตบนั้นจะพุ่งไปสู่ด้านซ้ายหรือด้านขวาของสนาม เป็นการตบตวัดลูกที่มีความเร็วในการเปลี่ยนทิศทางของเป้าหมาย ถ้าทำได้อย่างแนบเนียน จะสร้างความปั่นป่วนกระส่ำกระสายแก่ฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างมาก

 

       การตบลูกขนานเส้นข้าง  มีแนวโน้มที่จะตบออกนอกเส้นได้ง่าย เพราะการจับแร็กเก็ตแบบตัว วี. หน้าแร็กเก็ตจะหันออกด้านซ้าย ลูกที่ตบข้ามไปมักจะเฉออกทางด้านซ้ายของสนาม การเล็งเป้าหมายตบลูกจึงต้องเล็งเผื่อเข้ามาในสนามเล็กน้อย ในทำนองเดียวกัน การตบลูกขนานเส้นด้านขวา ลูกที่ตบข้ามไปจะมีความแน่นอนกว่า เพราะวิธีของลูกจะมีแนวโน้มเฉเอียงเข้ามาในสนาม

 

       การตบลูกทแยงสนาม ต้องตวัดลูกข้ามไปด้วยการพุ่งเร็ว และพึงระวังการดักลูก (Intercept) ของคู่ต่อสู้ ณ จุดหมายเลข 3 การตบลูกทแยงสนามสามารถทำได้ทั้งสองด้าน ทั้งคร่อมศีรษะและด้านโฟร์แฮนด์  จะเป็นลูกตบที่สร้างความลำบากใจแก่ฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างมาก เพราะวิถีกับมุมของลูกตบที่ข้ามไปมีหลากหลาย ยากแก่การเดาและคาดคะเนของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ก็เป็นลูกที่ข้ามตาข่ายอย่างเฉียดฉิว ง่ายแก่การตีติดตาข่ายถ้าการตบมีการกดลูกมากเกินไป

 

     เป้าหมายของการตบลูก เป้าหมายของลูกตบ แบ่งออกได้เป็น

      1. ตบลูกให้ห่างตัวผู้รับ

      2. ตบลูกพุ่งเข้าหาตัวผู้รับ

 

     ตบลูกห่างตัวผู้รับ เป็นการตบลูกแบบเบสิคพื้นฐาน บีบบังคับให้คู่ต่อสู้ผละออกจากศูนย์กลางสนาม ละจากจุดศูนย์กลางเพื่อไปรับลูก ณ อีกจุดหนึ่ง ระหว่างที่ต้องเคลื่อนย้ายผละจากที่มั่นเดิม คู่แข่งอาจจะกระทำการผิดพลาดในจังหวะใดจังหวะหนึ่ง ยังผลให้ตีหรือรับลูกกลับมาผิดพลาด สั้นไปหรือยาวเกินไป ทำให้เปิดโอกาสให้เราซ้ำเติมในลักษณะการรุกโจมตีซ้ำดาบสองได้

      ในทำนองเดียวกัน การฉีกแยกคู่แข่งออกจากจุดศูนย์กลาง ย่อมทำให้อีกด้านหนึ่งของสนามเกิดช่องว่างมากขึ้น ทำให้เราสามารถตีโยกบีบให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดการเพลี่ยงพล้ำขึ้นโดยง่าย หรือบางครั้งอาจจะบีบให้ตีลูกเสียเอง หรือเกิด Unforced Error อย่างคาดไม่ถึงก็ได้

 

      ตบลูกพุ่งเข้าหาตัวผู้รับ เป็นการตบลูกสวนทางกับหลักการเลือกเป้าหมายการตีลูกในเกมแบดมินตัน แต่อาศัยที่ลูกตบเป็นลูกที่พุ่งเร็วและแรง การตบลูกพุ่งเข้าหาตัวคู่ต่อสู้อาจจะทำให้เกิดความเพลี่ยงพล้ำอย่างง่ายๆ ก็ได้ เพราะความเร็วกับความแรงของลูกทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีเวลาสำหรับเตรียมการตอบโต้ ยิ่งผู้เล่นที่อ่อนฟุตเวิร์คจัดจังหวะเท้าไม่ถูก จัดจังหวะเท้าไม่คล่องตัว ก็อาจจะเอี้ยวตัวหลบไม่ทัน เพื่อเปิดมุมสะวิงสำหรับเหวี่ยงตีลูกได้ถนัด หรือบางครั้งคาดไม่ถึงคิดว่าผู้ตบมีแนวโน้มที่จะกำหนดเป้าหมายการตบลูกไปอย่าง ส่วนว่างของสนามมากกว่าที่จะตบลูกพุ่งเข้ามาหาตัวก็ได้

 

 

อ้างอิง : http://phuketbadminton.exteen.com/20060627/entry-2

bottom of page