top of page

การตีลูกหลังมือ แบ็คแฮนด์

 

   นักเล่นหัดใหม่ หรือแม้แต่คนที่เล่นแบดมินตันมานาน มักจะบ่นกันเสมอว่า การตีลูกหลังมือ หรือแบ๊คแฮนด์ ทำไมถึงตียากตีเย็น เหวี่ยงตีเต็มที่แต่ลูกไม่วิ่งไกล ตีลูกไม่ถึงหลังสนามฝ่ายตรงข้าม หรือตีได้แรงเหมือนกับการตีลูกหน้ามือโฟร์แฮนด์ ลองมาค้นหาสาเหตุแก้ไขปัญหาของการตีลูกหลังมือ

    ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทก่อน แรงของการตีลูกมาจาก 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ

     1. แรงเหวี่ยงของแขน

     2. แรงตวัดบวกกับการสะบัดของข้อมือ 

     3. แรงโถมจากการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า

 

     แต่การตีลูกหลังมือ จะมีแรงตีลูกที่มาจาก 2 แหล่งแรกเท่านั้น โดยไม่มีแรงโถมจากตัวที่เกิดจากการเปลี่ยนน้ำหนักตัวที่ถ่วงจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้าเป็นแรงเสริม เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เล่นจะต้องใช้แรงตีลูกทั้ง 2 ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

ในการตีลูกหน้ามือ โฟร์แฮนด์ ในขณะที่แร็กเก็ตกระทบสัมผัสลูกขนไก่นั้น แขนของผู้เล่นจะต้องเหยียดอยู่ในแนวตรง เพื่อเปิดโอกาสให้แรงเหวี่ยงตีลูกจากทั้ง 3 แหล่งผ่องถ่ายไปสู่การปะทะตีลูกอย่างเต็มเหนี่ยว ตั้งหน้าแร็กเกตให้ตรง เพื่อให้เอ็นมีส่วนผลักดันลูกให้พุ่งออกจากแหล่งอย่างเต็มที่อีกแรงหนึ่ง

     เมื่อเป็นเช่นนี้ การตีลูกหลังมือ ผู้เล่นจะต้องไม่ลืมเทคนิคขั้นพื้นฐานดังกล่าว นำมาใช้กับการตีลูกหลังมืออย่างเต็มที่เช่นกัน กล่าวคือ ขณะที่เหวี่ยงตีลูกหลังมือนั้น ข้อศอกต้องงอพับเพื่อสร้างวงสะวิงในการเหวี่ยงตีลูก แต่ในขณะที่แร็กเก็ตกระทบสัมผัสตีลูกขนไก่นั้น แขนของผู้เล่นต้องเหยียดตรง เพื่อให้แรงเหวี่ยงตีลูกที่มาจาก 2 แหล่ง ได้ผ่องถ่ายไปสู่การปะทะตีลูกหลังมืออย่างสุดกำลัง ตั้งหน้าแร็กเก็ตให้ตรง ในลักษณะเดียวกับการตีลูกหน้ามือ หรือโฟร์แฮนด์พึงรำลึกไว้เสมอว่า การตีลูกหลังมือ เพื่อให้แรงเหวี่ยงตีลูกที่มีอยู่จำกัดได้ถูกใช้อย่างเต็มที่ ในขณะที่แร็กเก็ตสัมผัสกระทบตีลูกนั้น แขนของผู้เล่นจะต้องเหยียดอยู่ในแนวตรงเสมอ

     ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่ผู้เล่นที่ตีลูกหลังมือไม่แรงบ่อย ๆ นั้น เป็นเพราะผู้เล่นไม่ได้เหยียดแขนในแนวตรงขณะที่แร็กเก็ตสัมผัสลูกขนไก่ หรือไม่ก็เป็นเพราะตั้งหน้าแร็กเก็ตไม่ตรง หน้าแร็กเก็ตเอียงไปเพียงนิดเดียว จะทำให้ผลกระทบ (Impact) ของการตีลูกลดน้อยลงไปอย่างมากมาย

     ลูกหลังมือ หรือแบ๊คแฮนด์ เป็นลูกที่จัดอยู่ในประเภทของการรับ (Defensive) ผู้เล่นหลาย ๆ คนอาจจะเลือกใช้ลูกคร่อมเหนือศีรษะ หรือ โอเวอร์เฮ็ด(Overhead)แทน เป็นลูกที่จัดอยู่ในประเภทรุก(Offensive) แต่การตีลูกคร่อมศีรษะนั้นกินแรงมากกว่าตีลูกหลังมือ อีกประการหนึ่งถ้าลูกที่พุ่งมาทางด้านซ้ายของผู้เล่นมากเกินไป ก็ไม่อาจจะใช้ตีด้วยลูกโอเวอร์เฮ็ดได้ แต่ก็มีผู้เล่นมากรายที่สามารถพัฒนาฝึกซ้อมจนการตีลูกหลังมือกลายเป็นจุดแข็ง ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเดาไม่ออกว่าลูกที่จะข้ามไปนั้น จะข้ามไปในลักษณะใด จะเป็นการโยนโด่งสองมุมหลัง หรือแตะหยอดสองมุมหน้า หรือแม้แต่การตบลูกหลังมือด้วยลูกหลังมือแบ๊คแฮนด์ ก็ยังสามารถกระทำได้ด้วยความรุนแรง เป็นการปรับเปลี่ยนสภาพของฝ่ายรับให้เป็นฝ่ายรุกได้

     การตีลูกหลังมือ แบ๊คแฮนด์ให้แรง ต้องขยันฝึกตีลูกให้มากเป็นพิเศษ เหวี่ยงตีจนผู้เล่นสามารถจับจังหวะการตีลูกได้แรงตามต้องการ ต้องรำลึกไว้เสมอว่า แรงตีลูกที่มีเพียงการเหวี่ยงของแขน กับการตวัดกระชากของข้อมือเพียงสองแรงเท่านั้น ให้นำมาใช้เหวี่ยงกระตุกตีลูกให้แรงอย่างเต็มที่ และกระแทกตีลูกให้ปลิวออกจากแร็กเก็ตพุ่งไปยังจุดหมายตามต้องการ

 

   ลูกหลักในเกมแบดมินตัน ลูกหลักในกีฬาแบดมินตัน แบ่งออกได้เป็น 4 จำพวกใหญ่ ๆ คือ

    - ลูกโยน (Lob or Clear)

    - ลูกตบ (Smash)

    - ลูกดาด (Drive)

    - ลูกหยอด (Drop)

    ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเล่นหัดใหม่ หรือเล่นถึงระดับแชมเปี้ยน คุณก็หนีการเล่นลูกจำพวกนี้ไม่พ้น เป็นลูกหลักอันเป็นแม่บทของการเล่นแบดมินตัน แต่ละจำพวกของการตีลูกที่กล่าวมานี้ จะมีวิธีการตี การวางเท้าหรือฟุตเวิร์ค กับจังหวะการตีลูกที่แตกต่างกัน

ผู้เล่นที่ชำนาญแล้ว จะสามารถตีและบังคับลูก 4 จำพวกนี้ ให้ข้ามตาข่ายไปด้วยความหลากหลาย อาจจะมีความแตกต่างกันในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เช่น วิถี ความเร็ว ความยาว ความกว้าง ความสูง ความลึก การฉีกมุม ความหนัก แรง เบา ความเฉียบคม ถ้าทำอย่างนี้ได้ และสามารถนำเอาความหลากหลายไปใช้ในสถานการณ์ที่ถูกต้องนั่นคือศิลปสุดยอด ของการเล่นกีฬาแบดมินตันที่จะยังผลให้ผู้เล่นมีสไตล์หลากหลายของการตีลูก(Varieties of Strokes) ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งคิดไม่ถึง เดาไม่ออกว่าเราจะส่งลูกข้ามไปในลักษณะใด แต่ละลูกที่ตีข้ามไปนั้น ล้วนแต่แฝงไปด้วยอัตราส่วนแห่งการหลอกล่อ(Deception)แฝงอยู่ในตัวอย่างมีประสิทธิพล สร้างแบบฉบับเกมเล่นแบดมินตันของตนเองให้เข้มแข็ง มีสไตล์การเล่นในเชิงรุก ดุดัน ยากแก่การพ่ายแพ้

 

    ลูกโยน (Lob or Clear)คือ ลูกที่ตีพุ่งโด่งข้ามไปในระดับสูง และย้อยตกลงมาในมุม 90องศาในแดนตรงข้าม เป็นลูกที่ตีจากเหนือศีรษะ หรือ Overhead หรือจะงัดจากล่าง หรือUnderhand ก็ได้ ตีได้ทั้งหน้ามือ โฟร์แฮนด์ และหลังมือ แบ็คแฮนด์ ลูกโยน เป็นลูกเบสิคขั้นพื้นฐาน นักเล่นหัดใหม่จะเริ่มจากการหัดตีจากลูกโยน จึงเป็นลูกเบสิคที่สุดในกีฬาแบดมินตัน มองเผิน ๆ แล้วส่วนมากจะคิดว่า ลูกโยนเป็นลูกที่ใช้สำหรับแก้ไขสถานการณ์ โยนลูกข้ามไปสูงโด่งมากเท่าใด ก็จะมีเวลาสำหรับการกลับทรงตัวของผู้เล่นมากเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ลูกโยนอาจจะใช้สำหรับเป็นการเล่นในเชิงรุกก็ได้ เช่น การตีลูกโยนแบบพุ่งเร็วจี้ไปยังมุมหลังทั้งสองด้าน (Attacking Clear)จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามตกเป็นฝ่ายรับ ถ้าอยู่ในสถานการณ์เสียหลักจวนตัว จะทำให้การแก้ไขกลับการทรงตัวได้ยากยิ่งขึ้น

ลูกโยน มีจังหวะการตีคล้ายคลึงกับการตบลูก แต่ไม่ต้องใช้แรงกดมากเท่า แทนที่จะตีกดลูกลงต่ำ กลับเป็นการตีเสยลูกให้พุ่งโด่งขึ้นไปด้านบน สุดแท้แต่ว่าผู้เล่นจะบังคับให้ลูกพุ่งข้ามไปในระดับ วิถี ความเร็วตามต้องการลูกโยนที่ข้ามไปอย่างสมบูรณ์แบบ จะต้องมีแรงวิ่งไกลถึงสุดสนามตรงข้าม และต้องไม่ดาดจนคู่แข่งสามารถดักตะปบตีลูกได้ครึ่งทาง ลูกโยนที่ไม่ถึงหลัง หรือตีเข้าสู่มือคู่ต่อสู้ จะทำให้ฝ่ายเราเสียเปรียบการตีลูกโยน ให้กลับไปดูบทก่อน ๆ ที่ว่าด้วยการตีลูก แรงของการตีลูก และจังหวะฟุตเวิร์คของการตีลูก ฝึกฝนให้ดีจนสามารถจับจังหวะการเหวี่ยงตีลูกโยนไปถึงด้านหลังของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างง่าย ๆ และสบาย ๆ ในจังหวะ วิถี และระดับที่เราสามารถบังคับให้ลูกข้ามไปตามที่เราต้องการ

     ซูซี่ ซูซานติ แชมเปี้ยนโลกเดี่ยวหญิง และแชมเปี้ยนเหรียญทองโอลิมปิคหญิงเดี่ยวคนแรกของโลกจากอินโดนีเซีย มีลูกโยนที่เล่นได้เยี่ยมสุดยอด ลูกโยนของเธอตีง่าย ๆ ตีเนิบ ๆ แต่หนักแน่นและลึกถึงหลัง เธอสามารถตีป้อนโยนเข้ามุมหลังทั้งสองข้างได้ลึก และแม่นยำ จึงทำให้เธอได้ครองความเป็นราชินีแห่งการเล่นเดี่ยวหญิงของโลกอย่างต่อเนื่องหลายปีด้วย

     ลูกโยน อาจจะแบ่งออกมาได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

      - ลูกโยนหน้ามือ (Forehand Clear)

      - ลูกโยนหลังมือ (Backhand Clear)

      - ลูกงัดโยน (Underhand Clear)

      ลูกโยนหน้ามือแรงตีเกิดจากการประสานของแรงเหวี่ยง แรงตวัด การสะบัดของลำแขน ข้อมือ จังหวะฟุตเวิร์คที่ถูกต้อง บวกกับการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า โดยที่แรงตีที่ผ่านแร็กเก็ตไปสัมผัสลูกในช่วงวินาทีที่ถูกจังหวะจะโคน รวมแรงดีด ผลัก ดันให้ลูกพุ่งสูงโด่งไปยังสนามตรงข้าม ตามเป้าหมายที่ต้องการ 

     ลูกโยนหลังมือแรงตีเกิดจากการประสานงานเช่นเดียวกับการตีลูกหน้ามือ แต่การวางฟุตเวิร์คสลับกัน และไม่มีแรงโถมที่มาจากการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า แรงตีลูกหลังมือเกือบทั้งหมดจึงมาจากแรงเหวี่ยง แรงตวัด และการสะบัดของลำแขน กับข้อมือ เท่านั้น โดยเหตุที่การตีลูกหลังมือ แหล่งที่มาของแรงตีลูกมีจำกัด แรงเหวี่ยง แรงตวัดของลำแขนที่มาจากหัวไหล่ กับแรงที่เกิดจากการสะบัดข้อมือ จึงจำเป็นต้องประสานงานสอดคล้องกันอย่างกลมกลืนเป็นจังหวะเดียวโดยทฤษฎีแล้ว ลูกหลังมือน่าจะเป็นลูกรับสำหรับแก้ไขสถานการณ์มากกว่าเป็นลูกบุก แต่ถ้าฝึกตีลูกให้แรง และมีความคล่องแคล่วชำนาญ จะกลายเป็นการตีลูกที่ผู้เล่นสามารถสร้างเขี้ยวเล็บให้แก่การตีลูกหลังมือ ของตนกลายเป็นการเล่นเชิงรุก(Offensive Play)ได้ จังหวะของการดีด สะบัดข้อที่กระทำได้ในเสี้ยววินาทีกับแรงเหวี่ยงของแร็กเก็ตอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เล่นสามารถพลิกโฉมจากเกมรับเป็นเกมรุกได้ในบัดดล เพียงแต่บิดหน้าแร็กเก็ต เปลี่ยนจุดเป้าหมายการตี ลูกก็จะวิ่งไปอีกทางหนึ่ง ทำให้ผู้เล่นสามารถสร้างสัดส่วนของการเล่นลูกหลอก(Deceptive Play)ได้อย่างแพรวพราวด้วยลูกหลังมือ ไม่ว่าจะเป็นลูกโยนหลังมือกระแทกไปมุมหนึ่งมุมใดของสองมุมหลัง หรือแตะหยอดด้วยหลังมือ บังคับให้ลูกวิ่งเข้าสู่มุมซ้ายขวาด้วยความเร็ว หรือบางทีอาจจะใช้ข้อตวัดตบด้วยหลังมือขนานเส้น หรือทะแยงมุมก็สามารถจะทำได้

     ลูกงัดโยนลูกงัด คือการตีลูกโดยช้อนตวัดตีลูกจากล่างสะบัดขึ้นด้านบน หรือUnderhand เป็นการช้อนตีลูกจากต่ำไปสู่สูง เป็นลูกที่ไม่ต้องใช้แรงเหวี่ยงตีมากเท่าไหร่ ใช้ข้อกระตุกหรือสะบัดลูกก็จะปลิวออกจากแร็กเก็ตอย่างง่ายดาย ส่วนมากจะเป็นลูกที่เข้าประชิดด้านหน้าของสนาม เช่น การเข้ารับลูกแตกหยอดหรือลูกหยอดที่ฝ่ายตรงข้ามส่งข้ามมา หรือการรับลูกตบ เป็นต้น ลูกงัดใช้ตีได้ทั้งหน้ามือและหลังมือ เป็นลูกที่ได้แรงตีมาจากการตวัด กระตุกหรือสะบัดของข้อมือมากกว่าแรงตีจากแหล่งอื่น การตีลูกงัดผู้เล่นต้องยืดแขนและตีลูกสุดช่วงแขนลูกงัดบริเวณหน้าตาข่าย ถ้าเข้าประชิดลูกได้เร็ว มีโอกาสตีลูกในระดับสูง จะใช้เป็นลูกหลอกล่อคู่ต่อสู้ด้วยการเล่นลูกสองจังหวะ เหยียดแขนยื่นแร็กเก็ตออกไป จะทิ้งเป็นลูกหยอดก็ได้ หรือจะกระแทกลูกไปด้านหลังของสนามตรงข้ามก็ได้ จะเป็นการเล่นลูกหลอกสองจังหวะที่สำคัญอีกลูกหนึ่งในเกมเล่นแบดมินตันที่ผู้เล่นทุกคนจะมองข้ามไม่ได้การงัดลูกแบ่งเป็นสองวิธีใหญ่ ๆ คือ การงัดลูกให้พุ่งข้ามไปโดยไม่โด่งนัก ใช้เป็นการงัดลูกแบบรุก อีกวิธีหนึ่งคือการงัดลูกโด่ง ดึงให้คู่ต่อสู้ไปด้านหลังสนาม เพื่อให้เวลาสำหรับการกลับทรงตัวสู่จุดศูนย์กลางได้มากขึ้น

     ฝึกหัดตีลูกโยนตามหลักวิธีที่แนะนำมาถึงขั้นตอนนี้ โปรดอย่าลืมหลักขั้นพื้นฐานที่ได้อธิบายไว้แล้วในบทก่อน ๆ ทุกครั้งที่ตีลูก จะต้องไม่ลืมหลักการตีลูกใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ

1. หน้าแร็กเก็ตต้องตั้งให้ตรงขณะตีลูกขณะที่แร็กเก็ตสัมผัสกระทบตีลูกนั้น

2. แขนของผู้เล่นจะต้องเหยียดอยู่ในแนวตรงเสมอ

3. วิ่งเข้าไปหาลูก อย่ารอให้ลูกวิ่งเข้ามาหาเรา

4. เข้าประชิดตีลูกในระดับสูงที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้ และ

5. ต้องรู้จักดักลูก และเข้าปะทะ (Intercept) ลูกให้เร็วขึ้นเสมอ

 

 

 

อ้างอิง : http://phuketbadminton.exteen.com/20060627/entry-1

bottom of page